วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self –Directed Learning)

การเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self –Directed Learning)



          การรู้จักเชื่อมโยงความรู้กับการทำงาน และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ตามสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดตลอดเวลา และทวีความรวดเร็วมากขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่งมีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบเมื่อสามสิบกว่าปี แนวคิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วางบนรากฐานความเชื่อทางมนุษยนิยม (humanistic philosophy) ที่กำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ไว้ที่ การพัฒนาตนเอง (personal growth)  การเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีความสำคัญสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่บุคคลควรพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ  ดังนั้น การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นแนวคิดของการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ของผู้ใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสนับสนุนสภาพ สังคมแห่งการเรียนรู้ (learning society)” ได้เป็นอย่างดี
  ความหมายและลักษณะของการเรียนรู้แบบนำตนเอง
           การเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self –Directed Learning) เป็นวิธี การหนึ่งที่ใช้สอนในระดับ อุดมศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก คือ ให้ผู้เรียน ได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้เรียนจะจบการศึกษาไปแล้วก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นการเอื้อต่อ การพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
           การเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self-directed learning) เป็นการเรียนรู้ซึ่งผู้เรียนรับผิดชอบในการวางแผน การปฏิบัติ และการประเมินผล ความก้าวหน้าของการเรียนของตนเอง เป็นลักษณะซึ่งผู้เรียนทุกคนมีอยู่ในขณะที่อยู่ในสถานการณ์การเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถถ่ายโอนการเรียนรู้และทักษะที่เกิดจากการเรียนจากสถานการณ์หนึ่งไปยังอีกสถานการณ์หนึ่งได้ (Hiemstra, 1994)         ดิกสัน (Dixon, 1992) อธิบายว่า การเรียนรู้แบบนำตนเอง เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนวิเคราะห์ความต้องการในการเรียนรู้ของตนเอง ตั้งเป้าหมายในการเรียน แสวงหาผู้สนับสนุน แหล่งความรู้ สื่อการศึกษาที่ใช้ในการเรียนรู้ และประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง ทั้งนี้ผู้เรียนอาจได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรืออาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นก็ได้ ในการกำหนดพฤติกรรมตามกระบวนการดังกล่าว
             การเรียนรู้แบบนำตนเอง เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีกลุ่มมานุษยนิยม ซึ่งมีความเชื่อเรื่องความเป็นอิสระ และความเป็นตัวของตัวเองของมนุษย์ ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความดี มีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง สามารถหาทางเลือกของตนเอง มีศักยภาพและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างไม่มีขีดจำกัด มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น (Elias and Merriam, 1980 อ้างถึงใน Hiemstra and Brockett, 1994)
รูปแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง
วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2545 : 50-51) ได้เสนอหลักการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนี้ คือ
       1. ศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคล เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งในด้านความสามารถในการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้เจตคติ ฯลฯ ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ จึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความสามารถในการเรียนรู้ และวิธีการเรียนรู้ โดยจัดการเรียนรู้ เนื้อหาและสื่อที่เอื้อต่อการเรียนรู้รายบุคคล รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำเอาประสบการณ์ของตนมาใช้ในการเรียนรู้ด้วย
      2. จัดให้ผู้เรียนมีส่วนรับผิดชอบในการเรียน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง ดังนั้น การจัดการเรียนรู้จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีบทบาทตั้งแต่ การวางแผนกำหนดเป้าหมายการเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการของตน หรือกลุ่มการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียน การเลือกใช้วิธีการเรียนรู้การใช้แหล่งข้อมูล ตลอดจนถึงการประเมินผลการเรียนของตน
       3. พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน  การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เรียนจะต้องได้รับการฝึกให้มีทักษะ และยุทธศาสตร์การเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น การบันทึกข้อความ การจัดประเภทหมวดหมู่ การสังเกต การแสวงหาและใช้แหล่งความรู้ เทคโนโลยีและสื่อที่สนับสนุนการเรียนรวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ ในการตัดสินใจ แก้ปัญหากำหนดแนวทางการเรียนรู้ และเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง
       4. พัฒนาทักษะการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น การเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนต้องเรียนคนเดียว โดยไม่มีชั้นเรียนหรือเพื่อนเรียน ยกเว้นการเรียนแบบรายบุคคล โดยทั่วไปแล้ว ในการเรียนรู้ด้วยตนเองผู้เรียนจะได้ทำงานร่วมกับเพื่อน กับครูและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องพัฒนาทักษะการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นให้กับผู้เรียนเพื่อให้รู้จักการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับเพื่อนที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะเจตคติที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในกระบวนการเรียนรู้
       5. พัฒนาทักษะการประเมินตนเอง และการร่วมมือกันประเมินในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประเมินการเรียนรู้ ดังนั้น จึงต้องพัฒนาทักษะการประเมินให้แก่ผู้เรียน และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เรียนว่า การประเมินตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบประเมินผล รวมทั้งยอมรับผลการประเมินจากผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ต้องจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์การประเมินผลหลาย ๆ รูปแบบ
      6. จัดปัจจัยสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นบริเวณในโรงเรียนจึงต้องจัดให้เป็นแหล่งความรู้ที่นักเรียนจะค้นคว้าด้วยตนเองได้ เช่น ศูนย์วิทยาการ บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการสอน ฯลฯ รวมทั้งบุคลากร เช่น ครูประจำศูนย์วิทยบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกและแนะนำเมื่อผู้เรียนต้องการ
สามารถสรุปได้ว่าหลักการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองผู้จัดกิจกรรมต้องศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคลจัดให้ผู้เรียนมีส่วนรับผิดชอบในการเรียน พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน พัฒนาทักษะการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น พัฒนาทักษะการประเมินตนเอง และการร่วมมือกันประเมินและจัดปัจจัยสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน   ซึ่งจากแนวคิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมีแนวโน้มที่จะเป็นแนวคิดที่สำคัญของวงการการศึกษาของผู้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง จะเน้นถึงความรับผิดชอบของบุคคลและเชื่อในศักยภาพที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์  ซึ่งการที่ผู้เรียนจะประสบความสำเร็จและผลสัมฤทธิ์ของการเรียนได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจในเนื้อหาของผู้เรียนเป็นปัจจัยสำคัญ


จัดทำโดย
นายวีรพงศ์  นกสุ
รหัส 587190605
ป.บัณทิตวิชาชีพครู รุ่น 17 หมู่ 6 


วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การจัดการเรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery Learning ) และ การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ (Experiential Learning )

การจัดการเรียนรู้แบบรู้จริง  (Mastery Learning )

                การเรียนเพื่อรอบรู้ (Mastery Learning) ถือเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูทุกท่านสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยมีความเชื่อว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถที่จะเรียนจนรอบรู้ได้ ถ้ามีเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ตามที่ต้องการ เป็นการช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้และช่วยเปลี่ยนอัตมโนทัศน์ของผู้เรียนที่เรียนช้า ให้มีความรู้สึกมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น และมีความพยายามตั้งใจที่จะเรียนรู้ จัดเป็นการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญที่ความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีความแตกต่างกัน
                การสอนจะเริ่มที่การทบทวนความรู้พื้นฐานก่อน ด้วยการทดสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคน ถ้าหากพบข้อบกพร่อง จะต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงทันที เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันนั้น มีความรู้ใกล้เคียงกัน ก่อนดำเนินกิจกรรมการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นคุณภาพการสอน อันประกอบด้วย การชี้แนะ การให้แรงจูงใจ การให้นักเรียนมีส่วนร่วม และการแก้ไขข้อบกพร่องในการเรียน
                ดังนั้น การเรียนเพื่อรอบรู้ จะมีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าครูผู้สอนได้แก้ไขข้อบกพร่องโดยการซ่อมเสริมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนทุกคนได้มีโอกาสประสบความสำเร็จตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และยังลดปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคล เนื่องจากไม่มีการแข่งขันกันโดยมีความเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนสามารถที่จะเรียนจนรอบรู้ได้ ถ้ามีเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียนเพื่อรอบรู้ (Mastery Learning)

                ลักษณะสำคัญของการเรียนแบบรู้จริง ( Mastery Learning ) คือ 
                1. ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์อย่างละเอียดในการเรียนรู้เนื้อหาสาระ มีการจัดกลุ่มวัตถุประสงค์ และต้องบ่งบอกสิ่งสำคัญที่ผู้เรียนจะต้องกระทำให้ได้เพื่อแสดงว่าตนได้เกิดการเรียนรู้จริงในสาระนั้นๆ  วัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องจัดเรียงจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานไปสู่สิ่งที่ซับซ้อนขึ้น หรือ จัดเรียงจากง่ายไปหายาก 
                2. ผู้สอนมีการวางแผนการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนแต่ละคนให้สามารถตอบสนองความถนัดที่แตกต่างกันของผู้เรียน ซึ่งอาจใช้สื่อการเรียนรู้ วิธีสอน หรือเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเรียนที่กำหนด 
                3. ผู้สอนแจ้งให้ผู้เรียนเข้าใจในจุดมุ่งหมาย วิธีการเรียน ระเบียบกติกา ข้อตกลงต่างๆในการทำงานให้ชัดเจน 
                4. ผู้เรียนมีการดำเนินการเรียนรู้ตามแผนการเรียนที่ผู้สอนจัดให้ มีการประเมินการเรียนตาม วัตถุประสงค์แต่ละข้อ โดยผู้สอนคอยดูแลและให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล 
                5. หากผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์หนึ่งที่กำหนดไว้แล้ว จึงจะมีการดำเนินการเรียนรู้ตาม วัตถุประสงค์ต่อไป 
                6. หากผู้เรียนไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ผู้สอนต้องมีการวินิจฉัยปัญหาและความ ต้องการของผู้เรียน และจัดโปรแกรมการสอนซ่อมในส่วนที่ยังไม่บรรลุผลนั้น แล้วจึงประเมินผลอีกครั้งหนึ่ง หากสามารถทำได้จึงให้เรียนรู้ในวัตถุประสงค์ต่อไป 
                7. ผู้เรียนดำเนินการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดจนบรรลุครบทุกวัตถุประสงค์ ซึ่งผู้เรียนอาจใช้เวลามากน้อยต่างกันตามความถนัดและความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน 
                8. ผู้สอนมีการติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของผู้เรียน และเก็บข้อมูลการ เรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และมีการใช้ข้อมูลในการวางแผนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนต่อไป





การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์  (Experiential  Learning )

                การเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycles) เป็นวิธีการเรียนรู้ในแต่ละบุคคล มีผู้คิดค้นโดย David Kolb โดยมีขั้นตอนทั้งหมด 4 ขั้นตอนคือ                 1. Concrete Experience (Act) การสร้างประสบการณ์
                                > การเรียนการสอนในห้องเรียน
                                > การอ่านหนังสือ
                                > การดูวีดีทัศน์
                                > การทดลอง
                                > การพูดคุยและการประชุม

                2. Reflective Observation (Reflect) การสะท้อนการเรียนรู้ / ทบทวนการเรียนรู้
                                > การเขียนสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ 
                                > การบันทึกการเรียนรู้
                                > การทำการบ้าน
                                > การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียน (Dialogue / Discussion) 

                3. Abstract Conceptualization (Conceptualize) การสรุปองค์ความรู้
                                > การเขียนแผนภาพมโนทัศน์ (Mind Mapping) 
                                > การสรุปการเรียนรู้ออกมาเป็น Model หรือ Framework
                                > การนำเสนอผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

                4. Active Experimentation (Apply) การประยุกต์ใช้ความรู้
                                > สิ่งที่จะต้องเรียนรู้ต่อไป 
                                > แนวทางในการพัฒนาต่อ / ศึกษาต่อ
                                > รวบรวมสิ่งที่เรียนรู้ถูกต้องหรือผิดพลาดเพื่อการดำเนินการเรียนรู้ในขั้นตอนที่ 1








แหล่งอ้างอิงที่มา: บทความของนายกิตติชัย สุธาสิโนบล และบทความของนายกิตติ ชูวัฒนานุรักษ์

จัดทำโดย
น.ส. ชวนชื่น  ทองคำ
รหัส 587190619
หมู่เรียนที่ 6 
ป.บัณฑิตรุ่น 17

Infographic : Google ไดรฟ์ และ Google ภาพถ่าย

Infographic : Google ไดรฟ์ และ Google ภาพถ่าย จัดสร้างโดย นักศึกษา ป.บัณฑิต รุ่น 17 หมู่ 6 ปีการศึกษา 2559 ของมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

สร้างโดย สุพรรษา พรมชาติ

สรา้งโดย กิ่งกาญจน์  พยนต์ยิ้ม 

Infographic:ความสัมพันธ์ระหว่าง IT,Knowledge และ Instruction

Infographic : ความสัมพันธ์ระหว่าง เทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ที่ต้องการเผยแพร่ และการจัดการเรียนการสอน จัดสร้างโดย นักศึกษา ป.บัณฑิต รุ่น 17 หมู่ 6 ปีการศึกษา 2559 ของมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

สร้างโดย วีรพงศ์ นกสุข

สร้างโดย ทัศนีย์ นรินทร์

หลักการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Student-Centered Instruction)


หลักการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Student-Centered Instruction)

หลักการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Student-Centered Instruction)

แบบเน้นตัวผู้เรียน

1.การจัดการเรียนการสอนตามอัตภาพ(Individualized Instruction) เป็นการจัดสภาพการเรียนการสอนเป็นรายบุคคล โดยคำนึงภูมิหลังและสติปัญญา ความสามารถ ความถนัด ความสนใจและความต้องการของแต่ละคนด้วย ผู้สอนไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยผู้เรียนและทดสอบผู้เรียนก่อนเรียน

2.จัดการเรียนรู้โดยผู้เรียนนำตนเอง (Self-Directed Learning) เป็นการให้โอกาสผู้เรียนวางแผนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งครอบคลุมวินิจฉัยความต้องการในการเรียนรู้ของตน การตั้งวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการเรียนรู้ การเลือกวิธีการเรียนรู้การแสวงแหล่งความรู้ โดยครูอยู่ในฐานะกัลยาณมิตร ทำหน้าที่กระตุ้นและให้คำปรึกษาผู้เรียนในการวินิจฉัยความต้องการกำหนดวัตถุประสงค์ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น


แบบเน้นความรู้ ความสามรถ

                1.การจัดการเรียนรู้แบบรู้จริง(Mastery Learning ) เป็นกระบวนการในการดำเนินการให้ผุ้เรียนทุกคน ซึ่งมีความสามารถและสติปัญญาที่ต่างกัน สามารถเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง โดยมีการประเมินผลว่าผู้เรียนรู้จริงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดจึงจะสามารถไปเรียนตามวัตถุประสงค์อื่นได้ หากว่าผู้เรียนยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้สอนต้องหาวิธีการ มาช่วยจนผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

                2.การจัดการเรียนการสอนแบบรับประกันผล (Verification Teaching)เป็นการจัดสภาพการณ์ของการเรียนการสอนที่ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์ โดยผู้เรียนรับรู้มาก่อนว่าจะมีการทดสอบตามวัตถุประสงค์นั้น จากผลการทดสอบ หากผู้เรียนยังไม่เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ ผู้สอนจะต้องดำเนินการสอนซ้ำให้แก่ผู้เรียน และทำการทดสอบใหม่จนกระทั่งผู้เรียนทุกคน เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด และวัตถุประสงค์ที่กำหนดนั้นต้องเหมาะสมและเป็นไปได้สำหรับผู้เรียน





3. .การจัดการเรียนการสอนแบบเน้นมโนทัศน์ (Concept-Based Instruction)เป็นการวางแผนการจัดการเรียนการสอนโดยการระบุมโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับและดำเนินการเรียนการสอนโดยใช้วิธีการและกระบวนการต่างๆที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจมโนทัศน์ และสามารถนำมโนทัศน์นั้นไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆได้ รวมทั้งมีการประเมินผลโดยมุ่งไปที่ความเข้าใจของผู้เรียนในมโนทัศน์นั้นๆ


แบบเน้นประสบการณ์

                1.การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ (Experiential Learning)เป็นการดำเนินการเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายโดยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ก่อน และให้ผู้เรียนสังเกต ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและนำสิ่งนั้นมาพิจารณาไตร่ตรองจนเกิดความคิดรวบยอดหรือสมมติฐาน แล้วนำไปทดลองหรือประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ต่อไปได้

2.การจัดการเรียนรู้โดยรับใช้สังคม (Service Learning) เป็นการดำเนินการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้โดยการให้ผู้เรียนเข้าไปมีประสบการณ์ในการรับใช้สังคม ทั้งนี้ผู้เรียนจะต้องมีการสำรวจความต้องการของชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียน และวางแผนการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆลงมือปฎิบัติการรับใช้สังคมตามแผน และนำประสบการณ์ทั้งหลายมาคิดพิจารณา ไตร่ตรอง จนกระทั่งเกิดความคิดรวบยอด

3.การจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Learning)เป็นการดำเนินการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้โดยการให้ผู้เรียนเข้าไปเผชิญสภาพการณ์จริง ปัญหาจริง ในบริบทจริง และร่วมกันศึกษาการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ ข้อมูล และวิธีการต่างๆเพื่อที่จะแก้ไขปัญหานั้น และได้รับผลการประเมินตามมาตรฐานคุณภาพในชีวิตจริง

แบบเน้นปัญหา

1.การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-Based Instruction)เป็นการจัดสภาพการณ์ของการเรียนการสอนที่ใช้ปัญหาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมาย โดยผู้สอนอาจนำผู้เรียนไปเผชิญกับสถานการณ์จริง หรือผู้สอนอาจจัดสภาพการณ์ให้ผู้เรียนเผชิญปัญหา และฝึกกระบวนการวิเคราะห์ และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเข้าใจในปัญหานั้นอย่างชัดเจน ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการใฝ่รู้ เกิดทักษะกระบวนการคิด และกระบวนการแก้ปัญหาต่างๆ

2.การจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงการเป็นหลัก (Project-Based Instruction) เป็นการจัดสภาพการณ์ของการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนได้ร่วมกันเลือกทำโครงการที่ตนสนใจโดยร่วมกันสำรวจ สังเกต และกำหนดเรื่องที่ตนสนใจ วางแผนในการทำโครงการร่วมกัน ศึกษาข้อมูลความรู้ที่จำเป็น และลงมือปฎิบัติงานตามแผนที่วางไว้ และสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ทั้งหมด

 แบบเน้นทักษะกระบวนการ

            1.การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการสืบสอบ (Inquiry Based Instruction)

           หลักการ เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการใช้คำถามที่เหมาะสม นิยาม การเรียนการสอนใช้คำถามในการกระตุ้นการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนสืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ การสรุปข้อมูลการอภิปรายโต้แย้งทางวิชาการ และการทำงานเป็นกลุ่ม ตัวบ่งชี้ ครูผู้สอนจะมีเอกสาร กระบวนการสอน ทักษะ และการประเมินแก่ผู้เรียน

              2. การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการคิด (Thinking Based Instruction)

        หลักการ เป็นกระบวนการทางสติปัญญา ที่ต้องอาศัยสิ่งเร้า สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการคิดที่หลากหลาย นิยาม เป็นการเรียนการสอนที่ต้องใช้ทักษะและเทคนิคในการสอน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ตัวบ่งชี้ ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผู้สอนมีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการคิดได้หลากหลาย

              3. การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการกลุ่ม (Group Process Based Instruction)

             หลักการ เป็นการเน้นกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มโดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งภายในกลุ่มมีการกำหนดวัตถุประสงค์ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิด นิยาม เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม ตัวบ่งชี้ ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายในกลุ่ม รู้จักการวิเคราะห์ และการประเมินการเรียนทั้งด้านเนื้อหาสาระและกระบวนการกลุ่ม

                4. การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการวิจัย (Research BasedInstruction) 

         หลักการ เป็นกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง นิยาม การสอนเน้นกระบวนการวิจัย คือ การจัดสภาพของการเรียนการสอนให้ผู้เรียนใช้กระบวนการวิจัย ตัวบ่งชี้ ผู้สอนมีการนำวิจัยเข้ามาเป็นสื่อในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนมีการอภิปรายร่วมกัน และผู้สอนมีการประเมินผลการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาสาระและกระบวนการวิจัย

               5. การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Instruction Emphasizing Self – Learning Process) 

            หลักการ ผู้เรียนมีความสนใจอยู่เป็นธรรมชาติ ดังนั้น ผู้สอนจำเป็นต้องส่งเสริมการเรียนรู้ นิยาม การจัดสภาพการณ์การเรียนรู้ผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้สอนมีหน้าที่ให้คำปรึกษาตามความเหมาะสม ตัวบ่งชี้ ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความสนใจของตนเองและดำเนินการศึกษาด้วยตนเอง ส่วนผู้สอนมีการจัดเตรียมเนื้อหาและประเมินผล


วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการสืบสอบ (Inquiry-Based Instruction)

การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการสืบสอบ 
(Inquiry-Based Instruction)
ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
จอยส์ และ วีล (Yoyce & Weil, 1996: 80-88) เป็นผู้พัฒนารูปแบบนี้จากแนวคิดหลักของเธเลน (Thelen) 2 แนวคิด คือแนวคิดเกี่ยวกับการสืบเสาะแสวงหาความรู้(inquiry) และแนวคิดเกี่ยวกับความรู้ (knowledge)  วิธีสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ เป็นวิธีการจัดการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการทางความคิด ค้นพบความรู้หรือแนวทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการทางความคิด ค้นพบความรู้หรือแนวทางแก้ปัญหาได้เอง และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ส่วนครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก
วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
        รูปแบบนี้มุ่งพัฒนาทักษะในการสืบสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจ โดยอาศัยกลุ่มซึ่งเป็นเครื่องมือทางสังคมช่วยกระตุ้นความสนใจหรือความอยากรู้และช่วยดำเนินงานการแสวงหาความรู้หรือคำตอบที่ต้องการ
กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
         ขั้นที่ 1 ให้ผู้เรียนเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ที่ชวนให้งุนงงสงสัย
ขั้นที่ 2 ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาหรือสถานการณ์นั้น
ขั้นที่ 3 ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันวางแผนในการแสวงหาความรู้
ขั้นที่ 4 ให้ผู้เรียนดำเนินการแสวงหาความรู้
ขั้นที่ 5 ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลข้อมูล นำเสนอและอภิปรายผล
ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
       ผู้เรียนจะสามารถสืบสอบและเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เกิดความใฝ่รู้และมีความมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น และได้พัฒนาทักษะการสืบสอบ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทักษะการทำงานกลุ่ม

นางสาวอรวรรณ มหัทธนะประดิษฐ 
นศ.ป.บัณฑิต รุ่น17 หมู่ 6 
รหัส 587190620

อ้างอิงจาก: https://sites.google.com/site/naranya2010/2-2

การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการกลุ่ม

(Group Process-Based Instruction)    
        การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการกลุ่ม เป็นวิธีการสอนที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ และการพัฒนาการทำงานของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่ง เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายของผู้จัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา  ระดับประถมศึกษา  ระดับมัธยมศึกษา  หรือระดับอุดมศึกษา  
        การจัดการเรียนการสอนแบบโดยเน้นกระบวนการกลุ่ม คือ ประสบการณ์ทางการเรียนรู้ที่นักเรียนได้รับ จากการลงมือร่วมปฏิบัติกิจกรรมเป็นกลุ่ม กลุ่มจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของแต่ละคน แต่ละคนในกลุ่มมีอิทธิพลและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน หลักการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการกลุ่ม  คือ เป็นการเรียนการสอนที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนโดยให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด  เป็นการเรียนการสอน ที่เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากกลุ่มให้มากที่สุด กลุ่มจะเป็นแหล่งความรู้สำคัญที่จะฝึกให้ผู้เกิดความรู้ความเข้าใจ และสามารถปรับตัวและเข้ากับผู้อื่นได้  .เป็นการสอนที่ยึดหลักการค้นพบและสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตัวของนักเรียนเอง โดยครูเป็นผู้จัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนพยายามค้นหา และพบคำตอบด้วยตนเอง  เป็นการสอนที่ให้ความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ ว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการแสวงหาความรู้ และคำตอบต่าง ๆ ครูจะต้องให้ความสำคัญของกระบวนการต่าง ๆ ในการแสวงหาคำตอบ
        การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระกระบวนการกลุ่ม ผู้สอนจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน ทั้งจุดมุ่งหมายทั่วไปและจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม โดยเน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง และทำงานร่วมกับผู้อื่น  และวิธีการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการสอนที่เน้นกระบวนการกลุ่ม มีหลายรูปแบบ เช่นการระดมความคิด  บทบาทสมมติ สถานการณ์จำลอง กรณีตัวอย่าง การแสดงละคร  เป็นต้น 
วิธีการจัดการเรียนการสอนที่สนับสนุนหลักการสอนแบบกระบวนการกลุ่มเหล่านี้ เป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้การจัดประสบการณ์การสอนที่หลากหลายและผู้สอนอาจใช้วิธีสอนอื่น ๆ ได้อีก โดยยึดหลักสำคัญ คือ การเลือกใช้วิธีการสอนที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการสอนแต่ละครั้ง

ภาพรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการกลุ่ม
                
      
ระดมความคิด
บทบาทสมมติ




 แหล่งอ้างอิง:

คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ สำนักงาน 2540 

Infographic : การเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมออนไลน์กับ Weblog

Infographic : การเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมออนไลน์กับ Weblog จัดสร้างโดย นักศึกษา ป.บัณฑิต รุ่น 17 หมู่ 6 ปีการศึกษา 2559 ของมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

สร้างโดย จุรีย์พร หมื่นจงจำปา

สร้างโดย วีรพงศ์ นกสุข