วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทบทวนก่อนสอบ

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2559 นักศึกษา ป.บัณฑิต รุ่น 17 หมู่ 6 ปีการศึกษา 2559 ของมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง แบ่งกลุ่มออกเป็น 12 กลุ่ม ช่วยกันทบทวน "วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา" ให้กับเพื่อนๆ ในห้อง ก่อนสอบกลางภาค โดยแบ่งหัวข้อการทบทวนดังนี้
  • เรื่องที่ 1 ปิรามิดแห่งความรู้ของยามาซากิ 
  • เรื่องที่ 2 ข้อมูลและสารสนเทศ
  • เรื่องที่ 3 การจัดการความรู้ 
  • เรื่องที่ 4 เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้ 
  • เรื่องที่ 5 เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
  • เรื่องที่ 6  องค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศคอมพิวเตอร์ 
  • เรื่องที่ 7 Weblog  
  • เรื่องที่ 8 ประโยชน์ของ Google ไดรฟ์ และ Google ภาพถ่าย
  • เรื่องที่ 9 การเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมออนไลน์กับ Weblog 
  • เรื่องที่ 10 ความสัมพันธ์ระหว่าง เทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ที่ต้องการเผยแพร่ และการจัดการเรียนการสอน
  • เรื่องที่ 11 นวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการศึกษา 
  • เรื่องที่ 12 คุณธรรมและจริยธรรมไซเบอร์ 
กลุ่มที่ 1 ปิรามิดแห่งความรู้ของยามาซากิ 

กลุ่มที่ 2 ข้อมูลและสารสนเทศ

กลุ่มที่ 3 การจัดการความรู้ 

กลุ่มที่ 4 เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้ 

กลุ่มที่ 5 เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

กลุ่มที่ 6 องค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศคอมพิวเตอร์ 

กลุ่มที่ 7 Weblog

กลุ่มที่ 8 ประโยชน์ของ Google ไดรฟ์ และ Google ภาพถ่าย

กลุ่มที่ 9 การเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมออนไลน์กับ Weblog

กลุ่มที่ 10 ความสัมพันธ์ระหว่าง เทคโนโลยีสารสนเทศ
ความรู้ที่ต้องการเผยแพร่ และการจัดการเรียนการสอน

กลุ่มที่ 11 นวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการศึกษา 

กลุ่มที่ 12  คุณธรรมและจริยธรรมไซเบอร์ 

ในระหว่างการทบทวนแต่ละหัวข้อ ได้มีการซักถามกันอย่างกว้างขวาง จนนักศึกษาทุกคนมีความเข้าใจ และหลังจากจบการทบทวนแล้ว ทุกคนในห้องรู้สึกมีความพร้อมและมีความมั่นใจว่าจะสามารถทำข้อสอบกลางภาคที่จะถึงนี้ได้คะแนนดีทุกคน

**********************

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ครูมืออาชีพ…อาชีพครู

บทความ-ครูมืออาชีพ…อาชีพครู





“ครู” มืออาชีพ…อาชีพ “ครู” คนละเรื่องเดียวกัน

“ครู” ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ระบบการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต หากประเทศใดที่มี “ครู” ที่มีคุณภาพ ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้ถึงแนวโน้มในการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ…ประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของครูให้มี สมรรถนะและมีความสามารถที่เพียงพอต่อการเป็นหนึ่งใน “เสาหลัก” แห่งการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จากตั้งแต่ในปี 2542 ที่ผ่านมา ได้มีการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะครู คณาจารย์ และบุคลากรการศึกษา รวมอยู่ด้วย โดยเป็นการปฏิรูปครูทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบการผลิตครู การพัฒนาครู การควบครูวิชาชีพ และการบริหารงานบุคคล
ส่วนของระบบการ ผลิตครูนั้น ได้มีการปรับหลักสูตรที่ใช้ในการผลิตครูที่เป็นผู้สอนในระดับการศึกษาขั้น พื้นฐาน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเริ่มใช้หลักสูตร 5 ปี ครั้งแรก ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547และ ณ วันนี้ จากการสิ้นสุดการอบรมด้วยหลักสูตรดังกล่าวนอกจากจะทำให้ได้ “ครูรุ่นใหม่” จำนวนถึง 2,041 คนแล้ว การอบรมที่เข้มงวดตลอดระยะเวลา 5 ปี ยังทำให้ระบบการศึกษาไทยได้บุคคลที่ประกอบ “อาชีพครู” ที่เป็น “ครูอาชีพ” อีกด้วย
ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่าง “อาชีพครู” กับ “ครูอาชีพ” คงหนีไม่พ้น “ครูอาชีพ” คือ ครูที่มีความรู้ ความสามารถ ความเมตตากรุณา จิตวิญญาณของความเป็นครูในการอบรมสั่งสอนนักเรียนอย่างสุดความสามารถ โดยไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย แม้ว่าปัจจุบันจะมีบุคคลที่ได้ชื่อเป็นเพียงผู้ประกอบ “อาชีพครู” แอบแฝงในแวดวงครูอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าครูรุ่นเก่า
หรือแม้แต่ครูรุ่นใหม่ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 5 ปีนั้น ส่วนใหญ่ต่างมีความเป็น “ครูอาชีพ” อย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน…
อย่าง ไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายนั้น ย่อมส่งผลให้ “ครู” ถูกคาดหวังจากสังคมในการทำหน้าที่เป็น “เบ้าหลอม” แห่งการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นทั้งคนดี คนเก่ง และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความคงทนในการจำของมนุษย์

• การเรียนในห้องเรียน (Lecture) นั่งฟังบรรยาย จะจำได้เพียง 5%
• การอ่านด้วยตัวเอง (Reading) จะจำได้เพิ่มขึ้นเป็น 10%
• การฟังและได้เห็น (Audiovisual) เช่น การดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ จำได้ 20%
• การได้เห็นตัวอย่าง (Demonstration) จะช่วยให้จำได้ 30%
• การได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน (Discussion) เช่น การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันในกลุ่ม จะช่วยให้จำได้ถึง 50%
• การได้ทดลองปฏิบัติเอง (Practice doing) จะจำได้ถึง 75%
• การได้สอนผู้อื่น (Teaching) เช่น การติว ,ถ่ายทอด หรือการสอน จะช่วยให้จำได้ถึง 90%

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Flipped Classroom

"ห้องเรียนกลับด้าน" (Flipped Classroom) 














ถ้าครูบันทึกวิดีโอการสอนให้เด็กไปดูเป็นการบ้าน แล้วครูใช้ชั้นเรียนสำหรับชี้แนะนักเรียนให้เข้าใจแก่นความรู้จะดีกว่า ใน "ห้องเรียนกลับด้าน" ครูจะแจกสื่อให้เด็กไปศึกษาล่วงหน้าที่บ้าน เมื่อมาเข้าชั้นเรียนในวันรุ่งขึ้น นักเรียนจะซักถามข้อสงสัยต่างๆ จากนั้นก็ลงมือทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มโดยมีครูคอยให้คำแนะนำตอบข้อสงสัย เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ โดยให้นักเรียน "เรียนที่บ้าน-ทำการบ้านที่โรงเรียน" ปัจจุบัน กระแส "ห้องเรียนกลับด้าน" เป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา และในปีการศึกษา พ.ศ. 2556 นี้ ชั้นเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของไทยก็จะนำแนวคิด "ห้องเรียนกลับด้าน" มาใช้ด้วยเช่นกัน


แนวคิดหลักของ "ห้องเรียนกลับด้าน" คือ "เรียนที่บ้าน-ทำการบ้านที่โรงเรียน" เป็นการนำสิ่งที่เดิมที่เคยทำในชั้นเรียนไปทำที่บ้าน และนำสิ่งที่เคยถูกมอบหมายให้ทำที่บ้านมาทำในชั้นเรียนแทน โดยยึดหลักที่ว่า เวลาที่นักเรียนต้องการพบครูจริงๆ คือ เวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือ เขาไม่ได้ต้องการให้ครูอยู่ในชั้นเรียนเพื่อสอนเนื้อหาต่างๆ เพราะเขาสามารถศึกษาเนื้อหานั้นๆ ด้วยตนเอง


"ห้องเรียนกลับด้าน" เป็นการเข้าใกล้การจัดการเรียนการสอนแบบ “เด็กเป็นศูนย์กลาง” (Child-center education) มากขึ้น ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบ้านได้ด้วย


"ห้องเรียนกลับด้าน" เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน เป็นรูปแบบการเรียนที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการสอนในชั้นเรียนอย่างเต็มที่ ครูจะมีเวลาใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้นแทนที่จะใช้เวลาในการสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว โดยครูมักบันทึกวิดีโอการสอนให้เด็กไปดูนอกชั้นเรียนแทน


ในห้องเรียนแบบเก่า ครูจะให้นักเรียนกลับไปอ่านตำราเองที่บ้านแล้วค่อยนำเนื้อหาต่างๆ ที่อ่านมาอภิปรายกันในวันถัดไป จากนั้นนักเรียนจะได้รับการบ้านที่ใช้วัดความเข้าใจต่อหัวข้อการเรียนนั้นๆ แต่ในการเรียนการสอนแบบ แบบ "ห้องเรียนกลับด้าน" นักเรียนจะเรียนรู้หัวข้อต่างๆ ด้วยตนเองก่อน โดยใช้วิดิโอการสอนที่ครูเป็นผู้ทำกลับไปศึกษาเองที่บ้าน จากนั้นในชั้นเรียนนักเรียนจะพยายามนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ในการทำงานและแก้ปัญหาต่างๆ ในชั้นเรียน


ดังนั้น งานหลักของครูคือการสอนนักเรียนเมื่อไม่เข้าใจ มากกว่าที่จะเป็นคนบอกเล่าเนื้อหาการเรียนเพียงอย่างเดียว การเรียนการสอนเช่นนี้ทำให้สามารถนำการจัดการเรียนรู้ตามความแตกต่างของผู้เรียน (Differentiate Instruction)และการเรียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based learning : PBL) มาใช้ในชั้นเรียนได้ด้วย


การเรียนการสอนแบบ "ห้องเรียนกลับด้าน" ทำให้ครูมีเวลาชี้แนะนักเรียนและช่วยนักเรียนสร้างสรรค์แนวคิดต่างๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังลดจำนวนนักเรียนที่หยุดเรียนในชั้นเรียนนั้นๆ และช่วยเพิ่มเนื้อหาสาระจากที่นักเรียนได้เรียนรู้ด้วย หลายคนให้ความเห็นว่า "ห้องเรียนกลับด้าน" อาจส่งผลเสียต่อนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นอกโรงเรียน อย่างไรก็ตามครูหลายท่านก็แก้ปัญหานี้ได้ด้วยการแจก CDs หรือเตรียม Thumb drives ที่มีไฟล์วิดีทัศน์ให้นักเรียน

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทำไมครูถึงไม่บอกสิ่งที่หนูอยากรู้

ทำไมครูถึงไม่บอกสิ่งที่หนูอยากรู้

         วันที่ 7-8 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปศึกษาดูงานมา และรวมกับสิ่งที่ได้พบได้เห็นแล้วเจอมากับตัวตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบันแล้วเกิดคำถามว่า "เวลานักเรียนเขาอยากรู้ทำไมครูบางคนถึงไม่แนะนำหรืออธิบาย ?"

โดยธรรมชาติของการเรียนรู้ มี 4 ขั้นตอน คือ
 1. ความต้องการของผู้เรียน (Want) คือ ผู้เรียนอยากทราบอะไร เมื่อผู้เรียนมีความต้องการอยากรู้อยากเห็นในสิ่งใดก็ตาม จะเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้

 2. สิ่งเร้าที่น่าสนใจ (Stimulus) ก่อนที่จะเรียนรู้ได้ จะต้องมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจ และน่าสัมผัสสำหรับมนุษย์ ทำให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวาย และใฝ่ใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่น่าสนใจนั้นๆ

 3. การตอบสนอง (Response) เมื่อมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจและน่าสัมผัส มนุษย์จะทำการสัมผัสโดยใช้ประสาทสัมผัสต่างๆเช่น ตาดู หูฟัง ลิ้นชิม จมูกดม ผิวหนังสัมผัส และสัมผัสด้วยใจ เป็นต้น ทำให้มีการแปลความหมายจากการสัมผัสสิ่งเร้าเป็นการรับรู้ จำได้ ประสานความรู้เข้าด้วยกัน มีการเปรียบเทียบ และคิดอย่างมีเหตุผล

 4. การได้รับรางวัล (Reward) ภายหลังจากการตอบสนอง มนุษย์อาจเกิดความพึงพอใจ ซึ่งเป็นกำไรชีวิตอย่างหนี่งจะได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว ยังจะได้รับเกียรติยศจากสังคมเป็นศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจทางสังคมได้ประการหนึ่งด้วย

              เพราะฉะนั้นการเรียนรู้นั้น ถ้าคนเกิดการอยากรู้ในสิ่งใดๆแล้ว ถ้าได้รู้ในตอนที่อยากรู้นั้นจะทำให้จดจำความรู้นั้นๆได้เกือบจะตลอดชีวิต แถมนักเรียนก็อยากรู้เองโดยครูไม่ต้องเร้า หรือกระตุ้นใดๆ ถ้าครูบอกดีดีหรืออธิบายยังได้แถมโปรโมชั่นเพิ่มเติมกับนักเรียนร่วมห้องก็ได้รู้เรื่องนั้นๆด้วย ถึงเรื่องอาจจะไม่ตรงกับวิชาที่เรียนก็ตาม ครูบางคนก็ดุว่า "ตอนนี้เรียนเรื่องนี้อยู่ไม่ควรรู้เรื่องนั้น" บางคนก็ดุอย่างเดียว บางคนก็บอกว่า "เอาไว้ก่อนนะเรามาเรียนเรื่องนี้กันต่อดีกว่า" หรือครูบางคนก็จ้องทำหน้าไม่พอใจแล้วก็สอนต่อไป
คุณก็ลองคิดซิถ้าเป็นคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้น

 ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่จะเกิดตามมา คือ
  • ความกล้าที่จะตั้งคำถามในประเด็นที่ต่างออกไปจะหายไปไม่มากก็น้อย
  • นักเรียนจะขาดกำลังที่จะคิดเรียนรู้สิ่งใหม่
  • ลดประสิทธิภาพในการเรียนรู้
              ซึ่งผู้เขียนไปได้เห็นโรงเรียนที่ได้สอนนักเรียนให้รู้ในสิ่งที่ต้องรู้ตามหลักสูตรและตัวชี้วัดมาและยังให้โอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งอื่นที่หลักสูตรและตัวชี้วัดไม่ได้บอกไว้แล้วนักเรียนก็มีความสุขระหว่างเรียนแล้วผลสัมฤทธิทางการศึกษาก็ดีขึ้นทุกปีอีกด้วย

    บทความนี้ผู้เขียนหวังว่าจะได้กระตุ้นอะไรสักอย่างในแง่ดีกับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย


เขียนโดย นายวีรพงศ์ นกสุข

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ยำ”ปฏิรูปศึกษา” ฉบับ”เหวี่ยง-สุดขั้ว”



      การศึกษาไทยติดหล่มมานาน นักคิดนักบริหารบางคนพยายามใช้ทางลัด “มาตรา 44” แห่งรัฐธรรมนูญ ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแก้ไขให้เป็นผลสำเร็จโดยเร็ว
แต่ที่เป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่ในตอนนี้ คือ ข้อเสนอของ นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเสนอแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดการศึกษา ตลอดจนปัญหาคุณภาพผู้เรียน โดยขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ ให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึงประถมศึกษาปีที่ 6 หรือ ป.6 แยกสายสามัญและสายอาชีวะตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และเสนอให้ตั้งสถาบันครูศึกษาพร้อมทั้งการันตีเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์!!
แถมด้วยแนวคิดให้เด็กที่จบ ป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ถ้าไม่มีเงินเรียนต่อ ก็ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
นายศรีราชาให้เหตุผลว่า เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียน ทำคะแนนดี จูงใจให้ผู้ปกครองและเด็กรับผิดชอบต่อตัวเองตั้งแต่ประถมศึกษา รู้จักคุณค่าของเงินงบประมาณรัฐที่เสียไปเพื่อการศึกษา ไม่ใช่เรียนโดยไม่มีเป้าหมาย
นักการศึกษาชื่อดังอย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาวิพากษ์ทันทีว่า เป็นข้อเสนอที่สุดขั้ว และเหวี่ยงมาก ไม่อยู่บนหลักการหรือวิธีคิดที่ตรงกับข้อเท็จจริงของปัญหา ขาดเหตุผลทางวิชาการ และไม่มีงานวิจัยรองรับ คิดอยู่บนพื้นฐานของเรื่องงบประมาณเป็นหลัก
“โดยเฉพาะแนวคิดที่ให้เด็กจบ ป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 หากเข้าเรียน ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับความช่วยเหลือ ไม่ใช่ไปซ้ำเติม เพราะเด็กที่เรียนต่ำกว่า 2.5 ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวยากจน หากให้เสียค่าเล่าเรียนเอง พ่อแม่ก็อาจตัดสินใจเอาลูกออกจากระบบการศึกษา เป็นปัญหาซ้ำร้ายมากขึ้นไปอีก ส่วนที่เสนอให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึง ป.6 นั้น รัฐบาลต้องดูให้ดีและระมัดระวังให้มาก เพราะข้อเสนอดังกล่าวขัดกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) ซึ่งกำหนดให้การศึกษาภาคบังคับอยู่ที่ ม.3 ไม่ใช่ ป.6 และตามหลักการแล้ว การศึกษาภาคบังคับควรอยู่ที่ ม.3 เท่าเดิม หรือหากรัฐบาลมีงบประมาณมากเพียงพอ ค่อยขยายเพิ่มขึ้นเป็น ม.6” นายสมพงษ์กล่าว
ด้าน นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) บอกว่า เป็นข้อเสนอที่รับไม่ได้ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมการศึกษามากขึ้น ไม่ใช่แก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการแก้กฎหมายให้การศึกษาภาคบังคับเหลือแค่ ป.6 เป็นการผลักเด็กออกนอกระบบการศึกษา ครอบครัวที่มีฐานะยากจน ก็อาจดึงลูกให้ออกไปทำงาน ไม่ให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ส่วนที่ให้เด็ก ป.6 เกรดไม่ถึง 2.5 เมื่อขึ้น ม.1 ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเองนั้น เป็นข้อเสนอที่แก้ปัญหาไม่ถูกทาง การแก้ปัญหาเด็กเรียนอ่อน ควรไปแก้ที่คุณภาพการเรียนการสอน ไม่ใช่ให้เด็กตั้งใจเรียน เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เรียนฟรี
ขณะที่อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางจรวยพร ธรณินทร์ ค้านเสียงแข็งว่า ไม่เห็นด้วย การเสนอแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ดูข้อดี ข้อเสีย ไม่ใช่ทำอะไรอย่างเร่งรีบ เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย ส่วนการศึกษาภาคบังคับ ตนพอรับได้ เพราะไม่ว่ากฎหมายจะยืดเวลาการบังคับเรียนไปถึง ม.6 หรือลดลงเหลือแค่ ป.6 ส่วนตัวไม่ค่อยกังวล เชื่อว่าผู้ปกครองยุคนี้เห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้นกว่าสมัยก่อน และต้องการให้ลูกได้เรียนสูงที่สุด แต่ข้อเสนอที่รับไม่ได้เลยคือ ให้เด็ก ป.6 ที่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 ผู้ปกครองจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ในการเรียนตามธรรมชาติ จะมีทั้งเด็กที่เรียนเก่ง และเด็กที่เรียนอ่อน และการที่เด็กเรียนไม่เก่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด ดังนั้นการลงโทษเด็ก โดยให้ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายเอง ถือว่าทารุณ โหดร้ายเกินไปและจะส่งผลให้เกิดปัญหามากขึ้น ทั้งกรณีที่ผู้ปกครองมีฐานะยากจน ไม่สามารถส่งลูกเรียนในชั้น ม.ต้นได้ ก็จะนำเด็กออกไปทำงาน หรือที่เรียกว่า เด็กหลุดระบบการศึกษา เด็กออกกลางคัน ขณะเดียวกันหากโรงเรียนและครูต้องการช่วยเหลือให้เด็กได้เรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น ก็จะปล่อยคะแนน หรือที่เรียกว่า เกรดเฟ้อ เพื่อให้เด็กได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้คุณภาพการจัดการศึกษายิ่งแย่และถอยหลังลงไปอีก
จากเสียงสะท้อนของนักวิชาการ และผู้ปกครอง ทำให้พอมองเห็นภาพว่า คงเป็นไปได้ยากที่หัวหน้า คสช.จะไฟเขียวรับข้อเสนอดังกล่าว ในทางกลับกัน หากรัฐบาลรับข้อเสนอไปพิจารณา ก็จะสวนทางกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งมีคำสั่งให้ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา โดยให้ช้อนเด็กกลับเข้าระบบให้มากที่สุด
ซึ่งเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีเด็กออกกลางคันเกือบ 9,000 คนในปี 2558
ขณะที่ปีการศึกษา 2559 สพฐ.ประกาศให้เป็นปีแห่งการลดจำนวนเด็กตกหล่นในระบบการศึกษา!!


ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์มติชนออนไลน์

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

9 บทเรียนนอกตำรา(ที่คุณครูสามารถสอนนักเรียนได้)


         
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ครูสอนนักเรียน

           นอกจากการเสริมสร้างความรู้ให้กับเด็กๆ การเตรียมความพร้อมและการสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกก็เป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันศักยภาพของเด็กๆ ได้ ดังตัวอย่าง 9 สิ่งดีๆ ที่เด็กนักเรียนสามารถได้รับจากบทเรียนนอกตำรา ที่แสดงให้เห็นว่าคุณครูนั้นเป็นมากกว่าผู้สอน แต่ยังเป็นผู้ส่งเสริมให้นักเรียนนั้นมีความพร้อมออกไปเผชิญกับโลกกว้าง ด้วยความกล้าหาญและมั่นใจในตนเอง

1. คุณครูช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็กๆ ได้
          นอกจากการสอนในตำรา อีกสิ่งหนึ่งที่คุณครูสามารถเสริมสร้างให้แก่นักเรียนได้คือความกล้าแสดงออก และความมั้นใจที่จะอยู่รวมกันในสังคม ดังเช่น “Christine Sulek-Popov” ผู้ปกครองท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ลูกสาวของฉันได้เปลี่ยนจากเด็กที่ขี้อายและขาดความมั่นใจ ไปเป็นเด็กที่มีความกล้าหาญ อีกทั้งยังสามารถสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับเพื่อนที่เรียนด้วยกันได้ และในทุกๆ เช้าเธอจะเปล่งประกายสดใสรับกับวันใหม่และตื่นเต้นกับการไปโรงเรียน”

2.พวกเขามีคนคอยดูแล
          นอกจากโรงเรียนจะเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ โรงเรียนก็ยังเป็นสถานที่ที่ผู้ปกครองให้ความไว้วางใจแก่ครูในการดูแลเด็กๆ ของพวกเขา “ผมรู้ว่า ลูกของผมนั้นจะได้รับการดูแลอย่างดีเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ทำให้ผมไม่ต้องกังวลและหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น คุณครูก็พร้อมรายงานให้ผมได้ทราบ” Erin Marsee Irby กล่าว
3.คุณครูมทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นคนพิเศษ
          นอกจากการเสริมสร้างปัญญาและการเรียนรู้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กๆ เพื่อเตรียมความพร้อมออกไปเผชิญกับโลกกว้าง “ลูกของฉันนั้นรู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคม” Sherri Kellock ได้กล่าว

4.คุณครูนั้นสามารถรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
          เด็กทุกคนนั้นมีความแตกต่าง สิ่งสำคัญคือคุณครูต้องสามารถดึงศักยภาพในตัวเด็กๆ ออกมาได้
“จะไม่มีการเปรียบเทียบความสามารถระหว่างเด็กๆ ในชั้น และคุณครูนั้นก็เน้นส่งเสริมไปที่ตัวบุคคล” Athena Albin กล่าว
5.คุณครูคอยส่งเสริมความมุ่งมั่นอยู่เสมอ
          นอกจากคอยสร้างความมั่นใจให้กับเด็กๆ คุณครูยังคอยสนับสนุน เป็นแรงผลักดันให้เด็กๆได้ดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

          “คุณครูของลูกๆ ทั้ง 3 ของฉันนั้นมหัศจรรย์มาก เขาทำให้ลูกชายสามารถกล้าเผชิญหน้ากับโลกกว้าง สอนลูกสาวให้รู้จักความเป็นผู้นำ และใช้เวลานอกเวลาเรียนในการทำการบ้านและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับทักษะของเด็กๆ เป็นคุณครูที่ดีอย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนเลย” Jane Brewer กล่าว
6.คุณครูสามารถช่วยส่งเสริมบทเรียนต่อจากผู้ปกครอง
          การส่งเสริมเด็กๆ ให้รู้จักการแบ่งปันและการให้ เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหลายคนนั้นให้ความสำคัญกับเด็กๆ “ลูกสาวของฉันนั้นมีโอกาสมากมายที่จะได้เห็นคุณค่าของการช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งคุณครูนั้นได้ช่วยส่งเสริมบทเรียนของฉันให้เด็กๆ มีความสุขกับการเป็นผู้ให้” Debbie Vigh กล่าว

7.คุณครูมีการส่งเสริมความเท่าเทียมกัน
          สำหรับการอยู่รวมกันในสังคม การถูกยอมรับในตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ได้อยู่อย่างมีความสุขและสามารถสร้างสัมพันธ์ใหม่ๆ กับคนอื่นได้

          “ลูกชายของฉันได้ถูกยอมรับในความเป็นตัวเอง และคุณครูก็สามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันสำหรับนักเรียนทุกคนได้” Gayle Stroud กล่าว
8.คุณครูสามารถส่งเสริมให้เด็กก้าวข้ามผ่านขีดจำกัด
          เนื่องจากศักยภาพของเด็กนั้นๆ สามารถส่งเสริมและพัฒนาได้ “ลูกสาวของฉันเติบโตขึ้นอย่างเกิดความคาดหมาย และเธอก็แสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตนเอง” Shaunna Glaspey กล่าว

9.คุณครูทำให้เด็กรู้สึกมีชีวิตชีวา
          "ลูกชายของฉันรักที่จะไปโรงเรียนทุกวัน คุณครูทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ได้เป็นที่รักและได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม รวมถึงเด็กๆ ชอบใช้เวลาอยู่ภายใต้การดูแลของคุณครูอีกด้วย ” Jennifer O'Donnell Snell กล่าว

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความสำคัญของจิตวิทยาต่อวิชาชีพครู

ความสำคัญของจิตวิทยาต่อวิชาชีพครู  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน วันทนียตระกูล
        การเป็นครูนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้ทางวิชาการเพื่อจะสอนนักเรียนเท่านั้น แต่ครูยังจะต้องเป็นผู้ช่วยนักเรียนให้พัฒนาทั้งทางด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ อารมณ์  และสังคมด้วยดังนั้น  ครูต้องเป็นผู้ที่ให้ความอบอุ่นแก่นักเรียน  เพื่อนักเรียนจะได้มีความเชื่อและไว้ใจครู  พร้อมที่จะเข้าพบครูเวลาที่มีปัญหา  นอกจากนี้ครูจะต้องเป็นต้นฉบับที่ดีแก่นักเรียน  ถ้าหากจะถามนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงนิสิตนักศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย  ว่ามีใครบ้างในชีวิตของนักเรียนที่นักเรียนยึดถือเป็นต้นฉบับ  นักเรียนส่วนมากจะมีครูอย่างน้อยหนึ่งคนยึดเป็นต้นฉบับหรือตัวแบบและนักเรียนจะยอมรับค่านิยมและอุดมการณ์ของครู  เพื่อเป็นหลักของชีวิต อิทธิพลของครูที่นักเรียนยึดเป็นต้นฉบับจะติดตามไปตลอดชีวิต
         มีผู้กล่าวว่า  ครูเปรียบเสมือนศิลปินที่ปั้นรูป  เพราะครูทุกคนมีส่วนในการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียน  แต่ผลงานของครูไม่เหมือนกับปฏิมากรที่พองานแต่ละชิ้นสำเร็จก็เห็นผลงาน อาจจะตั้งให้ชมได้  หรือถ้าไม่ชอบอาจจะแก้ไขเพิ่มเติมได้  ส่วนครูนั้นจะต้องรอจนนักเรียนกลับมาบอกครูว่าครูได้ช่วยเขาอย่างไร  หรือมีอิทธิพลต่อชีวิตเขาอย่างไร  และบางครั้งการรอก็เป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะแม้ว่านักเรียนบางคนจะคิดถึงความดีของครู แต่ก็คิดอยู่ในใจไม่แสดงออก จึงทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าอาชีพครูเหมือนเรือจ้างที่มีหน้าที่ส่งคนข้ามฟากเท่านั้น ซึ่งเป็นเครื่องชี้ถึงทัศนคติทางลบที่มีต่ออาชีพครูจึงมีส่วนทำให้คนบางคนตัดสินใจเลือกอาชีพครูเป็นอาชีพสุดท้าย
         นิสิตและนักศึกษาที่เลือกเรียนวิชาที่จะเป็นครู เมื่อเรียนจบแล้วอาจจะไม่เป็นครู ถ้าหากมีอาชีพอื่นให้เลือก ดังนั้นอาชีพครูจึงประกอบด้วยคน 2 ประเภท  คือผู้ที่รักอาชีพครู และต้องการเป็นครูจริงๆ และผู้ที่ต้องเป็นครูด้วยความจำใจ  ครูประเภทนี้บางคนได้พบว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีรางวัลทางใจที่ได้ช่วยเหลือนักเรียนให้เรียนรู้หรือเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและบุคลิกภาพ จึงทำให้รู้สึกว่าเลือกอาชีพที่ถูกแล้ว แต่ครูบางคนมีความรู้สึกว่าตนเลือกอาชีพผิดและต้องทนอยู่เพราะอยากมีงานทำและอยากมีเงินใช้แต่ไม่มีความสุข ครูประเภทนี้มีอันตรายเปรียบเสมือนฆาตกรฆ่านักเรียนทางด้านจิตใจอย่างเลือดเย็น  ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกต่ำต้อย และคิดว่าชีวิตของตนไม่มีค่า เป็นบุคคลที่ไม่มีประโยชน์  ไม่มีความสามารถและอาจจะต้องออกจากโรงเรียนด้วยการเรียนไม่สำเร็จ  มีชีวิตที่ประสบแต่ความผิดหวัง  ไม่สามารถที่จะมีชีวิตที่ก้าวหน้าได้ โดยครูเองก็ไม่ทราบ  ดังเช่นกรณีของเด็กชายคนหนึ่ง สมมติชื่อว่าเด็กชายแดง
             เด็กชายแดง เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รู้สึกว่าชีวิตน่าเบื่อหน่ายเพราะตนเองเรียนไม่ดีแม้ว่าจะพยายามก็ได้แต่เพียงคะแนนพอผ่านเท่านั้น  ผู้ปกครองได้พาแดงไปพบนักจิตวิทยา เพื่อจะหาทางช่วยเหลือเด็กชายแดงให้เรียนดีขึ้น  นักจิตวิทยาได้บอกว่าตนพร้อมที่จะช่วยเหลือ  แต่ก่อนอื่นอยากจะให้บอกเหตุผลว่าทำไมจึงเรียนไม่ดี แดงตอบว่า ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร  ที่เรียนไม่ดีคงเป็นเพราะโง่  นักจิตวิทยาถามต่อไปว่า ทำไมจึงคิดว่าตนเองโง่ เพราะถ้าโง่จริงก็คงจะสอบตกไปนานแล้วแดงเล่าให้นักจิตวิทยาฟังว่า  ตนเองเริ่มเรียนหนังสือไม่ค่อยดี ตอนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 3 อ่านหนังสือไม่ได้  ครูก็ให้เรียนพิเศษตอนเย็นกับครูทุกวันเป็นเวลาหลายสัปดาห์  ครั้งหนึ่งครูพูดด้วยความไม่พอใจว่า “ฉันสอนเธอไม่ได้แล้วแดง เธอโง่เกินกว่าที่ฉันคาด” แดงเล่าว่า คำพูดของครูติดอยู่ในสมองของเขามาตลอด  และทำให้คิดว่าเขาคงจะโง่จริงๆ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าคำพูดของครูเพียงประโยคเดียว เป็นเสมือนดาบของเพชฌฆาตที่ฟาดฟันลงไปกลางดวงใจเด็ก  ทำให้เกิดแผลที่รักษาไม่หาย  ถ้าหากครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 3ของเด็กชายแดงทราบหลักทางจิตวิทยาก็คงจะไม่พูดกับแดงเช่นนั้น  และถ้าครูทราบหลักการสอนที่ดี ครูก็คงจะช่วยเด็กชายแดงได้ เช่นครูอาจจะเลือกหนังสือที่ไม่ยากเกินไปให้อ่าน เมื่อเด็กอ่านได้ก็จะมีกำลังใจ  แล้วครูก็จะเพิ่มความยากขึ้นตามลำดับ  และครูควรจะบอกเด็กชายแดงว่า “ครูรู้ว่าเธออ่านได้  แต่หนังสืออาจจะยากเกินไปสำหรับเธอ”แล้วเปลี่ยนหนังสือทำให้เด็กมีสัมฤทธิผลเป็นขั้นๆ เด็กก็จะไม่มีปัญหาในการเรียน  เด็กก็จะมีความภูมิใจว่าตนประสบความสำเร็จได้  เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เด็กไม่ชอบวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ หรือสังคมศาสตร์ อาจจะเนื่องมาจากทัศนคติทางลบต่อวิชา  แต่ละวิชา ซึ่งเป็นผลมาจากการมีครูสอนไม่ดี ไม่เข้าใจหลักจิตวิทยาที่จะช่วยนักเรียนให้มีสัมฤทธิผลตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
 อ้างอิง https://educ105.wordpress.com

การเป็นครูไม่ใช่แครู้ว่าวันครู

                                                            การเป็นครูไม่ใช่แครู้ว่าวันครู


               การเป็นครูไม่ใช่แครู้ว่าวันครูคือวันที่ ๑๖ มกราคม แต่ความเป็นครูนั้นเปรียบได้กับดอกกล้วยไม้ ต้องใช้เวลานาน ต้องดูแลเอาใจใส่เราจึงจะเห็นดอกกล้วยไม้ การผลิตบุคคลในวิชาชีพครูยิ่งต้องสร้างให้งดงามมาก ให้เขาเข้าใจความเป็นครูและความเป็นครูนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้ทางวิชาการเพื่อจะสอนนักเรียนเท่านั้นแต่ครูยังจะต้องเป็นผู้ช่วยนักเรียนให้พัฒนาทางด้านสติ ปัญญา บุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคมด้วย ดังนั้นครูต้องเป็นผู้ให้ความอบอุ่นแก่นักเรียน เพื่อนักเรียนจะได้มีความเชื่อและไว้ใจครู พร้อมที่จะพบครูเวลาที่มีปัญหา นอกจากนี้ครูจะต้องเป็นต้นฉบับที่ดีแก่นักเรียน ถ้าหากจะถามนักเรียนตั่งแต่ชั้นประถม จนถึงนิสิตนักศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย ว่ามีใครบ้างในชีวิตของนักเรียนที่นักเรียนยึดถือเป็นต้นฉบับ นักเรียนส่วนมากจะมีครูอยู่อย่างน้อยหนึ่งคนเป็นต้นฉบับหรือตัวแบบและนัก เรียนจะยอมรับค่านิยมและอุดมการณ์ของครู เพื่อเป็นหลักของชีวิต อิทธิพลของครูที่นักเรียนยึดเป็นต้นฉบับจะติดตามไปตลอดชีวิต

ICT สำคัญไฉน?

การใช้ ICT เพื่อการศึกษา บริหาร จัดการเรียนรู้

      การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีบทบาทต่อการศึกษาอย่างมาก หลังจากแนวคิด      ของบิลล์ เกตส์ (Bill Gate) เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา ความคิดของเขาสมัยนั้นนับเป็นการเปิดโลกทัศน์ด้านการศึกษาด้วยการนำระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่มาปฏิวัติระบบการเรียนการสอนในปัจจุบัน(รุ่ง แก้วแดง,2543) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการใช้สารสนเทศเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดกระบวนการคิดด้วยเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมอันมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา คือ 
  1) เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนช่วยเรื่องการเรียนรู้                                                               2) เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษา                                                     3) เทคโนโลยีสารสนเทศกับการสื่อสารระหว่างบุคคล (หาญศึก เล็บครุฑและคณะ,2553) 
        และภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (The Partnership for 21st Century Skills, 2011)ได้กำหนดผลลัพธ์ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 โดยผสมผสานความรู้ ทักษะ และความชำนาญและความรู้ความสามารถพื้นฐานในเรื่องต่างๆ ที่ประกอบด้วย 
1) ความรู้เนื้อหาวิชาและประเด็นแนวคิดหลักของศตวรรษที่ 21 ได้แก่จิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานการเงินเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการประกอบการ ความเป็นพลเมือง การรู้เรื่องสุขภาพ และความรู้พื้นฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม  
2) ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ครอบคลุมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา การสื่อสารและความร่วมมือร่วมใจ 
3) ทักษะสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ครอบคลุมการรู้สารสนเทศ การรู้เท่าทันสื่อ การรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
4) ทักษะชีวิตและอาชีพ ครอบคลุมความยืดหยุ่น การปรับตัว ทักษะทางสังคมและข้ามวัฒนธรรม ผลิตผลและการตรวจสอบได้ ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (ชุติมา สัจจานันท์ , 2556) 
         โดยประเด็นที่3 ทักษะสารสนเทศ(IT Skill) สื่อและเทคโนโลยี ครอบคลุมการรู้สารสนเทศ(Information Literacy) การรู้เท่าทันสื่อ(Media Literacy) การรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT Literacy) มีบทบาทสำคัญมากในยุคปัจจุบันนี้ เพราะสารสนเทศที่ดีและสมบูรณ์เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่แถวหน้า เป็นผู้นำที่สามารถตัดสินใจและทำงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุบผา เมฆศรีทองคำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ                                          ดร.ดนุลดา จามจุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การเรียนรู้ด้วยตนเอง

การเรียนรู้ด้วยตนเอง

การเรียนรู้ด้วยตนเอง  (Self-directed Learning: SDL)

ลักษณะของผู้ที่มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง
1.  มีความสมัครใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (Voluntarily to Learn) มิได้เกิดจากการบังคับ แต่มีเจตนาที่จะเรียนด้วยความอยากรู้
2.  ใช้ตนเองเป็นแหล่งข้อมูลของตนเอง (Self Resourceful) นั่นคือผู้เรียนสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ตนจะเรียนคืออะไร รู้ว่าทักษะและข้อมูลที่ต้องการหรือจำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง
สามารถกำหนดเป้าหมาย วิธีการรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ และวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ ผู้เรียนต้องเป็นผู้จัดการการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้วยตนเอง (Manage of Change) ผู้เรียนมีความตระหนักในความสามารถ สามารถตัดสินใจได้ มีการรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทในการเป็นผู้เรียนรู้ที่ดี
3.  รู้ "วิธีการที่จะเรียน" (Know how to Learn) นั่นคือ ผู้เรียนควรทราบขั้นตอนการเรียนรู้ของตนเอง รู้ว่าเขาจะไปสู่จุดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร
4.  มีบุคลิกภาพเชิงบวก มีแรงจูงใจ และการเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น ตลอดจนการให้ข้อมูล (Charismatic Organizational Player) ในเชิงบวกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการเรียน
5.  มีระบบการเรียนและการประยุกต์การเรียน และ มีการชื่นชมและสนุกสนานกับกระบวนการเรียน (Responsible Consumption) 

6.  มีการเรียนจากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ การประเมินตนเองและความเข้าใจถึงศักยภาพของตน(Feedback and Reflection)
7.  มีความพยายามในการหาวิธีการใหม่ๆ ในการหาคำตอบ การประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล การหาโอกาสในการพัฒนา และค้นหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา (Seeking and Applying)
8.  มีการชี้แนะ การอภิปรายในห้องเรียน การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและการพยายามมีความเห็นที่แตกต่างไปจากผู้สอน (Assertive Learning Behavior)
9.  มีการรวบรวมข้อมูลจากการได้ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและมีวิธีการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ (Information Gathering)

 

 

"ทำไมการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า"


บทความทางวิชาการเรื่อง

"ทำไมการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า" 
โดย...พ.ต.ต.หญิง บุญณิสา ส่งแสง สว.ฝ่ายบริการการศึกษา ศฝร.ภ.8


              ทำไมระบบการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า 


              "การศึกษา" นับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนไปถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน ดังนั้นการพัฒนาคนสามารถทำได้หลาย ๆ รูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวล้ำนำโลกไปมาก การศึกษาก็ต้องพัฒนาไปให้ทันกับโลก 


              สำหรับการศึกษาในประเทศไทย หากดูจากสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมหลาย ๆ ฝ่ายกำลังเข้าใจเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือการศึกษาของไทยกำลังมีปัญหา จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากสังคม ซึ่งมีการทำวิจัยออกมาหลาย ๆ ครั้งที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการศึกษาในบ้านเรา ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยเปรียบเสมือนสายพานความป่วยไข้ทางสังคมที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ความอ่อนแอของทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันครอบครัวอ่อนแอ พื้นที่อบายมุขขาดการควบคุม อันเป็นปฐมเหตุของปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ไม่ว่าเป็นปัญหาติดห้าง เที่ยวกลางคืน กินเหล้า สูบบุหรี่ และมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อันจะนำไปสู่ผลกระทบกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย 

              เคยมีการสัมมนาเรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ผิดของวัยรุ่นไทยในปัจจุบันมีความรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤติทางสังคม ซึ่งปัญหาอันดับหนึ่งคือ ยาเสพติด รองลงมาคือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรโดยเฉลี่ยจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุ 16 ปี เป็นที่มาของการทำแท้ง การทอดทิ้งเด็ก เด็กถูกทำร้าย การติดเชื้อเอดส์ และการขายบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอุบัติเหตุจากความมึนเมา คึกคะนอง ท้าทายกฎระเบียบ ส่วนปัญหาที่กำลังมีแนวโน้มขยายตัวและรุนแรงในวัยรุ่นคือ การทำร้ายผู้อื่นและทำร้ายตนเอง โดยการคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนาและชุมชน รวมถึงสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและรีบแก้ไขปัญหาวัยรุ่น 

              ผลจากการติดตามการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 6 ปี หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยประเมินจากคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 17,562 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 49.1 ของโรงเรียนทั้งหมด พบว่า การจัดการเรียนการสอนของครูยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ยังมีคุณภาพอยู่ในระดับร้อยละ 39.2 การจัดกิจกรรมที่กระตุ้นผู้เรียนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ มีคุณภาพอยู่ระดับ ร้อยละ 13.5 และครูสามารถนำผลการประเมินมาปรับการเรียนและเปลี่ยนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพเพียงร้อยละ 21.6 ของสถานศึกษาทั้งหมด การประเมินคุณภาพทางด้านผู้เรียนพบว่า ยังมีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนระดับต่ำมากในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์ มีคุณภาพระดับดีเพียงร้อยละ 11.1 และการมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพดีเพียงร้อยละ 26.5 ของสถานศึกษาทั้งหมด ส่วนผลการประเมินของผู้ตรวจราชการ พบว่า โครงสร้างการบริหารการศึกษาในส่วนกลาง ยังขาดการประสานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนภูมิภาคพบว่าผู้แทนกระทรวงในจังหวัดยังไม่ชัดเจน การกระจายอำนาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่สำคัญครูจำนวนมากยังสอนแบบเดิม ขาดความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาสพัฒนามาก เพราะไม่สามารถทิ้งห้องเรียนได้ การติดตามผลยังไม่เข้มแข็ง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทางการศึกษา 



           สาเหตุที่ทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาช้า วิเคราะห์ได้ดังนี้ 


             1. ระดับนโยบาย 

              ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งเป็นระดับประเทศ จะเห็นได้ว่า รัฐบาลหลายยุคยังให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาในระดับรองเมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆ ความจริงแล้วเรื่องการศึกษาถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งมีข้อที่น่าสังเกตว่าผู้ที่จะมารับผิดชอบกำกับดูแลการศึกษาของชาติกลับกลายเป็นว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความรู้มีความเข้าใจงานด้านการศึกษา หรือมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการศึกษาไม่มากนัก กล่าวคืออาจมีความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพอื่น แต่เมื่อมารับผิดชอบงานทางด้านการศึกษากลับไม่สามารถกำกับดูแล และกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และนโยบายการศึกษาของชาติได้ ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาและแนวทางการปฏิบัติกับบุคลากรทางการศึกษา ทั้งๆที่ในวงการศึกษามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างมากมาย 
              2. ระดับผู้ปฏิบัติ
               ในระดับผู้ปฏิบัติอันดับแรกก็ต้องนึกถึงครู ผู้ให้ความรู้ ประสิทธิประสาทวิชา เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับนักเรียน สำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่าในอดีตนั้นอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ มีเกียรติ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะที่จบออกมาเป็นครูนั้น นักเรียนจะให้ความสำคัญน้อย เลือกเป็นอันดับท้าย ๆ หรือสอบเข้าอะไรไม่ได้จึงต้องไปเรียนครู ได้ยินคนในสังคมกล่าวกันอย่างนั้น ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาเพื่อเป็นครูจริง ๆ มีน้อยลงทุกวัน เมื่อไม่มีจิตวิญญาณในการเป็นครูแล้ว การจะสอนให้ได้ประสิทธิภาพดีก็น้อยลงตามความสำคัญ จะทำอย่างไรให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครูและต้องการเป็นครู เลือกคณะครูเป็นอันดับแรก ๆ และสิ่งที่ตอกย้ำลงไปอีกคือครูจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ที่มีหนี้สินมาก เนื่องมาจากค่าตอบแทนจากอาชีพการเป็นครูน้อย ไม่เพียงพอต่อการครองชีพกับสังคมปัจจุบัน ทำให้ครูส่วนหนึ่งสนใจที่จะหารายได้เลี้ยงครอบครัวมากกว่าการสอนหนังสือ เช่นการสอนพิเศษ ตั้งใจทำอาชีพเสริมมากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณที่เหลืออยู่น้อยแล้ว ยังมีเรื่องของการประเมินผล ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพโดยเฉพาะการเลื่อนวิทยฐานะไม่ได้วัดจากความสำเร็จของนักเรียน แต่วัดจากผลงานทางวิชาการ ดังนั้นครูบางส่วนจึงสนใจที่จะทำผลงานทางวิชาการมากกว่าการสอนเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้จริง ๆ ครูจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาไทยพัฒนาได้ช้า
               3. ระบบการศึกษาของไทย
               การศึกษาของประเทศไทยเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมของคนไทยที่ได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่โบราณให้เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีวันไหว้ครู ดังนั้นครูสมัยก่อนจะดุและนักเรียนจะเชื่อฟังมาก นักเรียนจะกลัว ไม่กล้าถาม ไม่กล้าตอบ ทำให้ปลูกฝังมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นระบบที่ฟังจากครูอย่างเดียว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ไม่เป็น การศึกษาไทยเป็นระบบป้อนเข้าอย่างเดียว ไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน หรือมีก็น้อยมาก มีการสนใจใฝ่หาความรู้ด้วยตนเองน้อย ทำให้เด็กคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่เป็น ยิ่งมีการเน้นย้ำด้วยการสอบโดยอาศัยความจำเป็นหลักนักเรียนก็จะท่องจำอย่างเดียว ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น สังคมปลูกฝังให้นักเรียนต้องเป็นคนเก่ง ซึ่งนักเรียน ก็จะแข่งกันโดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น ๆ เมื่อผิดหวังรุนแรงก็ไม่สามารถแก่ปัญหาตนเองได้ เหล่านี้เป็นต้น แต่ก็เห็นว่าในปัจจุบันจะได้พัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแล้ว เด็กกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น ก็นับว่าเป็นจุดที่ดีที่จะพัฒนาให้ทัดเทียมประเทศอื่นต่อไป 
               นอกจากนั้นการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน เครื่องมืออุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนก็แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาลด้วยกัน หรือโรงเรียนเอกชน ต่างจังหวัดนั้นไม่มีอุปกรณ์สื่อการสอนเลยในขณะที่กรุงเทพฯ มีมากมาย ทำให้เด็กมีมาตรฐานไม่เหมือนกันอยู่แล้ว และนำเกณฑ์เดียวกันมาวัดทำให้เกิดความล้มเหลวทางการศึกษา และในโรงเรียนก็ไม่ได้สอนเต็มที่เพราะต้องการให้นักเรียนมาเรียนพิเศษอันนำมาซึ่งรายได้เพิ่ม สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาช้าของระบบการศึกษาอีกอย่างหนึ่งคือสถาบันกวดวิชา จะเห็นได้ว่าเป็นที่น่าสนใจมาก มีผู้เรียนเยอะเสียค่าเล่าเรียนแพงมาก แต่ธุรกิจพวกนี้ก็ยังอยู่ได้ แสดงว่ามีคนเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหากมีการสอนที่ดีในโรงเรียนแล้วเด็กก็จะไม่ต้องมาเรียนพิเศษมากมายขนาดนั้น 


               บทสรุป

               จากปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้น มีทั้งสาเหตุหลักและสาเหตุรองหลายประการที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาของไทยยังไปไม่ถึงไหน พัฒนาได้ช้า แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่จะผ่าตัดการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น ทั้งนี้การแก้ปัญหาการศึกษาบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ผู้ที่จะมากำกับดูแลงานทางด้านการศึกษา รัฐบาลจะต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษาจริงๆ มารับผิดชอบ นอกจากนั้นการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องกำหนดให้มีหัวข้อวิชาคุณธรรม จริยธรรมไว้ในทุกหลังสูตรทุกระดับ จะต้องเพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับครู การเลื่อนวิทยฐานะของครูต้องมีความเหมาะสมและเป็นธรรม และที่สำคัญในส่วนของผู้ปกครอง สื่อมวลชน สถาบันทางศาสนา ต้องแสดงบทบาทและหน้าที่ในการมีส่วนรวมกับการพัฒนาการศึกษาได้ด้วย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทและหน้าที่และร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง ผู้เขียนเชื่อว่าการศึกษาของไทยจะพัฒนาได้อย่างไม่ช้าเหมือนที่ผ่านมา