การศึกษาไทยไร้ทางออก เลาะเลียบคลองฯ ตุลย์ ณ ราชดำเนิน tulacom@gmail.com ขณะที่ยังไม่มีรายงานผลจัดสอบโอเน็ต 3 วิชา สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ดังที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยออกข่าวประกาศให้สถานศึกษาเป็นผู้ออกข้อสอบเอง โดยให้เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 นั้น มีผลประเมินออกมาอย่างไรนั้น น่าจะคอยได้ แต่อย่างน้อยความคาดหวังอย่างสูงยิ่ง การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใน 3 กลุ่มสาระดังกล่าว น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งความมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ ครอบคลุมครบด้านการประเมินความรู้ ทักษะกระบวนการ และการประเมินคุณลักษณะ กำชับด้วยข้อความ สถานศึกษาต้องประเมินตามความเป็นจริงโดยให้เด็กทำโครงงาน ชิ้นงาน และได้วางกรอบป้องกันครูช่วยเหลือเด็กด้วยคะแนน ตามที่หลายฝ่ายมีกังวลใจกับสิ่งที่ไม่มีใครรับประกันได้ในข้อนี้ ขณะที่การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของระบบการศึกษาที่เชื่อมโยงไปยังกลไกอื่นๆ ยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการรับตรง การสอบโควตาในพื้นที่ การสอบคัดเลือกของกลุ่มคณะ/สาขาวิชา ที่ยังมีเงื่อนไข และความต้องการผู้ที่เข้าเรียนล้วนแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อจัดกลุ่มคนไปพัฒนาได้แบบเร็ว มีความรู้ความสามารถบนพื้นฐานความถนัด โดยดูผลจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถของนักเรียนในด้านต่างๆ ประกอบ จึงเป็นที่มาของการปลอมเอกสารเพื่อให้ได้เข้าเรียน การปลอมเอกสารคะแนนสอบ และความพยายามทุจริตหลากหลายวิธีการในการจะได้เข้าไปเรียนสาขาวิชาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงของรัฐและเอกชน ซึ่งระยะหลังมีการตรวจพบจับได้ไล่ทันทำให้ผู้กระทำผิดเสียอนาคตไปมิใช่น้อย ข้อเสนอล่าสุดการเสวนาของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เรื่องระบบคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษากับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย บรรดาอาจารย์ นักบริหารอุดมศึกษาและนักวิชาการคนดังทั้งหลาย ประสานเสียงเสนอทางออกที่มาในรูปแบบลักษณะชนิดให้ไปตายเอาดาบหน้า คือ ให้โละระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย โดยเปิดให้เด็กเข้าเรียนตามชอบ หากใครเรียนไม่ได้ก็ให้คัดออกไป คงไม่ใช่ทางออกในการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศนี้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.kroobannok.com/article-79054-การศึกษาไทยไร้ทางออก.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น